เปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ โครงหลังคาสําเร็จรูปต่างกับโครงหลังคาเหล็กอย่างไร

หัวข้อที่น่าสนใจ

รวมข้อดีข้อเสียของโครงหลังคาสำเร็จรูปและโครงหลังคาเหล็ก แบบไหนที่เหมาะกับบ้านคุณ

ปัจจุบันนี้ได้มีการคิดค้นโครงหลังคาสำเร็จรูปขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์งานโครงสร้างหลังคาให้มากขึ้นกว่าโครงสร้างหลังคาในรูปแบบเดิม เพราะในการก่อสร้างอาคารหรือบ้านเรือนนั้น ขั้นตอนเริ่มแรกที่สำคัญคือการทำงานโครงสร้าง ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๆ ได้แก่ เสาเข็ม คานคอดิน คานพื้น บันได และโครงสร้างหลังคา ซึ่งในแต่ละส่วนของงานโครงสร้างนั้น ก็มีเทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยเข้ามารองรับมากขึ้น เพื่อให้งานก่อสร้างได้มาตรฐานและอาคารบ้านเรือนมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งงานโครงสร้างหลังคาก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เสาหรือคาน เพราะเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุดของบ้าน จึงดูแลรักษายาก อีกทั้งโครงสร้างหลังคายังเชื่อมต่อและมีการถ่ายเทน้ำหนักมาที่เสาบ้าน ดังนั้นหากออกแบบและก่อสร้างโครงหลังคาไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้โครงสร้างของบ้านโดยรวม มีปัญหาได้ ดังนั้นโครงหลังคาสำเร็จรูปจึงเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้

แต่ด้วยความที่โครงหลังคาสำเร็จรูป ราคาต่อตารางเมตรยังค่อนข้างสูงกว่าราคาโครงหลังคาเหล็กแบบเดิม จึงอาจทำให้ผู้ที่กำลังจะสร้างบ้านหรืออาคารหลายคนยังลังเล ว่าจะเลือกใช้อะไรดีระหว่างโครงหลังคาสำเร็จรูปและโครงหลังคาเหล็ก ธนาคูณ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงขอเปรียบเทียบข้อดีและข้อจำกัดของโครงหลังคาสำเร็จรูปกับโครงหลังคาเหล็กให้ได้เห็นถึงความแตกต่าง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้โครงหลังคาให้เหมาะสมกับแผนการก่อสร้างของคุณ

โครงหลังคาสำเร็จรูป

เป็นโครงหลังคาที่ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ สำเร็จมาจากโรงงาน โดยใช้เหล็กทนแรงดึงสูงเคลือบกันสนิม และใช้นวัตกรรม M-Truss หรือโครงหลังคาแบบถัก

ข้อดีของโครงหลังคาสำเร็จรูป M-Truss

  • โครงหลังคาสำเร็จรูปทำจาก High Tensile Steel หรือเหล็กทนแรงดึงสูง เป็นเหล็กที่มีความบางแต่ทนต่อแรงดึงได้สูงกว่าเหล็กรูปพรรณทั่วไปถึง 2 เท่า โดยสามารถรับแรงดึงได้สูงสุดที่ 5,500 กก./ตร.ซม.จึงมีความแข็งแรงทนทานกว่าเหล็กทั่วไปอย่างมาก
  • โครงหลังคาสำเร็จรูปมีน้ำหนักเบากว่าโครงหลังคาเหล็กทั่วไป โครงสร้างของบ้านจึงไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
  • โครงหลังคาสำเร็จรูปไม่เป็นสนิมตลอดอายุการใช้งาน เพราะเป็นเหล็กที่ชุบกัลวาไนซ์สำเร็จมาจากโรงงาน ซึ่งเป็นการเคลือบผิวเหล็กทนแรงดึงสูงด้วยอะลูมิเนียมซิงค์หรือแมกนีเซียมซิงค์ เพื่อป้องกันสนิม โดยไม่ต้องมาทาหรือชุบสีกันสนิมเองที่หน้างานแบบโครงหลังคาเหล็ก ซึ่งเป็นวิธีที่อาจเกิดข้อผิดพลาดในการชุบสีได้ ในระยะยาวโครงหลังคาสำเร็จรูปจึงประหยัดค่าบำรุงรักษามากกว่า เพราะไม่ต้องคอยเติมสีชุบกันสนิม
  • โครงหลังคาสำเร็จรูปจะมีการผลิตเหล็กทนแรงดึงสูงแต่ละชิ้นให้เป็นท่อนขนาดต่าง ๆ กันตามแบบ และนำแต่ละท่อนมาประกอบเข้าด้วยกันที่หน้างานด้วยการขันสกรู (ตะปูเกลียว) จะไม่มีการเชื่อมหรือการเก็บงานกันสนิม
  • สกรูที่ใช้ขันเพื่อเชื่อมโครงหลังคาสำเร็จรูป เป็นสกรูที่เคลือบโลหะป้องกันสนิมหรือกัลวาไนซ์มาจากโรงงานเช่นเดียวกับตัวชิ้นส่วนเหล็ก ดังนั้นสกรู 1 ตัว จะรับนํ้าหนักได้สูงสุดถึง 600 กิโลกรัม โครงหลังคาสำเร็จรูปจึงมีความแข็งแรงทนทานต่อการแอ่น งอ หรือหัก
  • ลักษณะของโครงหลังคาสำเร็จรูป เป็นโครงถัก (Truss) หรือโครงข้อหมุน ที่เป็นการนำชิ้นส่วนวัสดุขนาดต่าง ๆ มาเชื่อมต่อกันเป็นรูปทรงเลขาคณิต โดยสามารถถ่ายแรงเฉือนแรงตามแนวแกน และโมเมนต์ ดัด (Bending Moment) ได้อย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันโครงหลังคาสำเร็จรูปแอ่น โค้งงอ หรือหัก ทั้งจากแรงลม แผ่นดินไหว หรือพื้นดินทรุด
  • โครงแบบถัก (Truss) ของโครงหลังคาสำเร็จรูป สามารถวางท่อนชิ้นส่วนของโครงหลังคาแบบพาดกว้าง (วางพาดตามความกว้างของอาคาร) หรือวางแบบพาดยาว (วางพาดตามความยาวของอาคาร) โดยไม่ต้องมีเสาค้ำตรงกลาง เพราะใช้การขันสกรูเป็นตัวยึดโครงสร้างเอาไว้ โดยชิ้นส่วนของโครงหลังคาสำเร็จรูปแต่ละชิ้น จะช่วยถ่ายเทและรองรับน้ำหนักของกันและกันเอาไว้แทนการใช้เสา โครงหลังคาสำเร็จรูปจึงไม่มีเสาค้ำยันโครงหลังคามากีดขวางและบดบังทัศนียภาพ
  • โครงหลังคาสำเร็จรูปมีอุปกรณ์ที่ช่วยยึดจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ เพิ่มเติมจากการขันสกรู เช่น ตัวยึดจุดยอด (Apex Plate), ตัวยึดตะเข้เชิงชาย (Hip Fascia Bracket) และตัวยึดเชิงชาย (Fascia Bracket) จึงช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานและช่วยถ่ายน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • โครงหลังคาสำเร็จรูปจะมีการคํานวณนํ้าหนักของโครงหลังคาตามรูปทรงของหลังคาอาคารแต่ละแบบ แต่ละขนาด และชนิดกับน้ำหนักของกระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้ รวมถึงคำนวณแรงลมในบริเวณที่ตั้งของอาคารด้วย
  • โครงหลังคาสำเร็จรูปใช้ปริมาณเหล็กน้อยกว่าโครงหลังคาเหล็ก เฉลี่ยเพียง 7 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร ในขณะที่โครงหลังคาเหล็กต้องใช้เหล็กถึง 15 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร
  • ไม่มีเศษวัสดุเหลือใช้ที่หน้างาน เพราะโครงหลังคาสำเร็จรูปผ่านการคำนวณแต่ละชิ้นส่วนของโครงหลังคามาอย่างพอดี จึงไม่มีการนำชิ้นส่วนเหล็กเคลือบมาตัดที่หน้างานอีก

ข้อจำกัดของโครงหลังคาสำเร็จรูป

  • โครงหลังคาสำเร็จรูปทำระยะยื่นของชายคาได้ไม่มากเท่าโครงหลังคาเหล็ก
  • ไม่ตอบโจทย์โครงหลังคาที่มีรูปแบบฟรีสไตล์ โครงหลังคาสำเร็จรูปจะเหมาะกับรูปทรงหลังคาแบบทั่ว ๆ ไปเท่านั้น เช่น ทรงจั่วหรือทรงปั้นหยา
  • โครงหลังคาสำเร็จรูป ราคาต่อตารางเมตรจะสูงกว่าโครงหลังคาเหล็ก เพราะเป็นโครงหลังคาสั่งผลิตตามแบบและใช้วัสดุเกรดดีคุณภาพจากโรงงาน ไม่ใช่เหล็กรูปพรรณที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป
  • โครงหลังคาสำเร็จรูป ราคาต่อตารางเมตรมีราคาสูง เพราะต้องทำอะเสเป็นคานปูนเสริมเหล็กเท่านั้น เพื่อให้รับน้ำหนักโครงหลังคาได้ดี เนื่องจากอะเสจะทำหน้าที่ยึดหัวเสาแต่ละต้น และช่วยรับน้ำหนักจากโครงหลังคาแล้วถ่ายเทไปยังเสา จึงทำให้เกิดความสมดุลของน้ำหนักโครงหลังคา
  • ต้องใช้บริการจากผู้ผลิตโครงหลังคาสำเร็จรูปโดยเฉพาะเท่านั้น เพราะต้องมีการสั่งผลิตโครงหลังคาสำเร็จรูปจากโรงงาน ให้เป็นไปตามแบบและตามการคำนวณทางวิศวกรรมของอาคารแต่ละหลังที่สั่งทำโครงหลังคาสำเร็จรูป

โครงหลังคาเหล็ก

เป็นโครงหลังคาที่ทำจากเหล็กรูปพรรณขนาดต่าง ๆ โดยมีคุณลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

ข้อดีของโครงหลังคาเหล็ก

  • ประกอบจากเหล็กรูปพรรณแบบต่าง ๆ เช่น เหล็กกล่อง หรือเหล็กรูปตัวซี ซึ่งหากใช้เหล็กกล่อง ก่อนนำมาใช้งาน จะต้องมีการชุบสีกันสนิมให้ทั่วทั้งผิวเหล็กด้านนอกและด้านใน
  • ต้องมีการออกแบบจากวิศวกร โดยสามารถออกแบบโครงหลังคาได้หลายแบบตามความต้องการ เช่น โครงหลังคาทรงเหลี่ยม โครงหลังคาทรงโค้ง หลังคาแบบชายคายาว และโครงหลังคาทรงฟรีสไตล์แบบต่าง ๆ
  • ใช้เหล็กเต็มที่ได้มาตรฐานมอก., ASTM, BSI, JIS ฯลฯ เพื่อประสิทธิภาพในการรับแรง
  • ต้องนำเหล็กขนาดต่าง ๆ ไปติดตั้งด้วยการเชื่อมที่หน้างาน โดยการเชื่อมครั้งแรกจะเป็นการ “เชื่อมแต้ม” ที่เป็นการเชื่อมเพื่อยึดเหล็กส่วนต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันก่อน แต่การเชื่อมจะยังไม่ได้แน่นหนานัก เพราะเผื่อเอาไว้สำหรับแก้ไขจุดเชื่อมต่าง ๆ เมื่อประกอบเสร็จตามแบบแล้ว และไม่มีการแก้ไขจุดเชื่อมใดอีก จึงทำการ “เชื่อมเต็ม” โดยการเชื่อมให้เหล็กติดกันอย่างแข็งแรงและแน่นหนา
  • หลังเชื่อมเหล็กทุกจุดแล้ว ต้องทาสีกันสนิมซ้ำ โดยเน้นในบริเวณที่เชื่อมเหล็ก เพื่อป้องกันสนิมเกิดในจุดเชื่อมเหล็ก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างหลังคา
  • การเชื่อมหลังคาแบบเต็ม รองรับการดัดเหล็กให้โค้ง เพราะเหล็กจะมีความยืดหยุ่นกว่า ซึ่งความยืดหยุ่นของเหล็ก ทำให้โครงสร้างหลังคามีความปลอดภัยสูง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว
  • สะดวกต่อการต่อเติมบ้าน เพราะเพียงแค่เชื่อมเหล็กของโครงหลังคาในส่วนต่อเติม เข้ากับโครงหลังคาเดิม

ข้อจำกัดของโครงหลังคาเหล็ก

  • มีเศษเหล็กเหลือที่หน้างานจำนวนมาก เพราะต้องนำเหล็กรูปพรรณขนาดมาตรฐานมาตัดให้ได้ขนาดตามที่วิศวกรออกแบบ
  • มีโอกาสเกิดสนิม หากชุบสีกันสนิมไม่ทั่วถึง
  • ต้องออกแบบโครงสร้างโดยวิศวกรผู้ชำนาญการเท่านั้น เพราะต้องมีการคำนวณระยะเหล็กและค่าการรับแรงต่าง ๆ อย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งช่างทั่ว ๆ จะทำได้ไม่ดีพอ
  • ต้องหมั่นทาสีกันสนิมอยู่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันสนิมขึ้นโครงสร้างหลังคาเหล็ก จึงทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการดูแลรักษา
  • โครงหลังคาเหล็กมีน้ำหนักมาก และใช้เหล็กปริมาณเยอะ โครงสร้างของบ้านจึงต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย

เมื่อทราบถึงข้อดีข้อจำกัดและจุดเด่นของโครงหลังคาทั้งสองแบบแล้ว ก็จะสามารถคิดคำนวณถึงความเหมาะสมและงบประมาณที่มีได้ ว่าบ้านหรืออาคารของคุณเหมาะจะใช้โครงหลังคาแบบใดมากกว่ากัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกันอย่างจริงจังแล้ว นวัตกรรมการผลิตของโครงหลังคาสำเร็จรูปมีข้อดีและมีความทนทานมากกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องดูแลรักษามากเท่ากับโครงหลังคาเหล็ก

10 บทความล่าสุด